ฝ้าฮอร์โมน เกิดจากฮอร์โมนแบบไหน แล้วใครบ้างที่มีโอกาสเป็น
ไม่ว่าสาว ๆ คนไหนก็ไม่มีใครอยากให้ หน้าเป็นฝ้ากระ เพราะนอกจากจะทำให้ยุ่งยากในการปกปิดก่อนออกไปใช้ชีวิต บางครั้งก็ทำลายความมั่นใจ แล้วยังต้องดูแลรักษาไม่ให้ ฝ้าบนใบหน้า กระจายหรือเข้มขึ้นไปจนถึงรักษาให้จางลง เพราะส่วนใหญ่แล้ว ฝ้าบนใบหน้า มักจะไม่ค่อยหายไปแบบไร้ร่องรอยโดยง่ายหรือในเวลาอันรวดเร็วมากนัก การรักษาอาจจะต้องค่อยเป็นค่อยไป และจะต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มโอกาสและผลลัพธ์ที่ดีในการรักษา เรียกว่า ฝ้าเมื่อเป็นแล้วอาจจะต้องใช้เวลา ดังนั้นจะดีกว่าไหมถ้าเราจะรู้ทันสาเหตุหรือปัจจัยของการเกิดฝ้าแต่ละชนิด อย่างเช่น ฝ้าฮอร์โมน ที่หลายคนมีโอกาสเป็นโดยไม่รู้ตัว แล้วฝ้าชนิดนี้เราจะหลีกเลี่ยงได้อย่างไร ถ้าอย่างนั้นไปทำความรู้จักกับฝ้าชนิดนี้กันว่าเกิดมาจากปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง ใครบ้างมีโอกาสเป็น เพื่อจะได้รู้เท่าทันและสามารถรับมือหรือป้องกันก่อนฝ้าจะมาทำให้คุณสูญเสียความมั่นใจและทำให้เกิดอุปสรรคในการใช้ชีวิต
รู้จักกับ ฝ้าฮอร์โมน ปัญหาผิวหน้าที่ไม่ควรมองข้าม
ปกติแล้ว ฝ้าบนใบหน้า ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการที่ร่างกายมีการผลิต เมลานิน ซึ่งก็คือ เม็ดสีที่เกิดจากเมลาโนไซด์ (Melanocyte) ที่เป็นเซลล์ผิวหนัง มีสีน้ำตาลแดงไปจนถึงดำ เป็นสารที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง ถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยต่าง ๆ จนมีจำนวนมากเกินไป ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นมีรอยปื้นสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงสีดำ และมีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากรังสียูวีที่อยู่ในแสงแดด สำหรับใครที่อยากจะรู้จักประเภทอื่น ๆ ของ ฝ้าบนใบหน้า สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ใน เจาะลึกเรื่อง “ฝ้า” บนใบหน้า วายร้ายทำลายความมั่นใจ เกิดจากอะไรได้บ้าง? แต่จริง ๆ แล้วการที่ หน้าเป็นฝ้ากระ ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากฮอร์โมนที่อยู่ภายในร่างกายของเราเองได้ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มักจะมีเรื่องของฮอร์โมนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต และในส่วนของ ฝ้าฮอร์โมน จะเกิดจากการที่ฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายไปกระตุ้นให้เม็ดสีสร้างขึ้นมาเยอะกว่าปกติ ทำให้เกิดฝ้าขึ้น หรือทำให้ฝ้าที่มีอยู่แล้วในบริเวณนั้น ๆ เข้มขึ้นหรือขยายวงกว้าง เพิ่มจำนวนมากขึ้นได้นั่นเอง โดยฮอร์โมนที่อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดฝ้าชนิดนี้ อาจจำแนกได้ดังต่อไปนี้
- ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) หรือฮอร์โมนเพศหญิงที่มีอยู่แล้วในร่างกายของผู้หญิงทั่วไป โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนนี้มักจะมีส่วนไปกระตุ้นให้เกิดการสร้างเม็ดสีเมลานินให้ผลิตเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ ทำให้ฝ้าบริเวณนั้น ๆ เข้มขึ้นจนเกิดเป็น ฝ้าฮอร์โมน จึงมักจะพบได้บ่อยในผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ซึ่งเป็นช่วงที่ฮออร์โมนเอสโตรเจนจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าในช่วงเวลาปกติที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดบางชนิดด้วย เนื่องจากร่างกายบางคนตอบสนองการเปลี่ยนแปลงไวของฮอร์โมนที่เกิดจากการกินยาคุมกำเนิดต่อเนื่อง
- ฮอร์โมนช่วงหลังคลอด นอกจากจะพบบ่อยในช่วงกำลังตั้งครรภ์แล้ว ยังสามารถพบได้ในช่วงหลังคลอดเช่นกัน ซึ่งมักจะเกิดจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมาอย่างรวดเร็วและฉับพลัน ทำให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายเสียสมดุล จนทำให้เกิดการสร้างเม็ดสีเมลานินส่วนเกินเพิ่ม จนทำให้สีผิวไม่สม่ำเสมอและเป็นจุดด่างดำที่เข้มขึ้นกลายเป็นฝ้าในที่สุด
- ฮอร์โมนความเครียด อาจสังเกตได้ว่าช่วงไหนที่ทำงานหนักจนเครียดมาก ๆ หรือใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงจนพักผ่อนไม่เพียงพอ สีผิวจะเข้มขึ้น หรือมีริ้วรอยและจุดด่างดำเกิดเพิ่มขึ้น นั่นเป็นเพราะว่าหากร่างกายเกิดความเครียดก็จะหลั่งฮอร์โมนความเครียด หรือ ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ออกมา ร่างกายเกิดอนุมูลอิสระมากขึ้น และอาจทำให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายเสียสมดุล ไปจนถึงกระตุ้นการผลิตเม็ดสีเมลานินเพิ่มมากขึ้นจนเกิดเป็นปัญหาฝ้า ในขณะที่ ฝ้าบนใบหน้า ของเดิมที่มีอยู่แล้ว สีก็จะยิ่งเข้มและชัดเจนขึ้นด้วย
ฝ้าฮอร์โมน มีวิธีสังเกตลักษณะอย่างไรให้แยกออกว่านี่คือฝ้าชนิดใดกันแน่?
โดยส่วนใหญ่แล้วฝ้าจะมีหลากหลายชนิดด้วยกัน สำหรับ ฝ้าฮอร์โมน นั้นถูกจัดแบ่งตามสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดฝ้า โดยอาจสังเกตลักษณะหรือแยกออกจากฝ้าชนิดอื่น ๆ ได้ด้วยการดูจากตำแหน่งของการเกิดฝ้า หรือระดับความลึกของตำแหน่งที่เกิดฝ้า ดังต่อไปนี้
- ฝ้าฮอร์โมน แบบฝ้าตื้น (Epidermal type) เป็นฝ้าที่เกิดในบริเวณของผิวชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) ลักษณะมีสีน้ำตาลเข้มเป็นปื้น ๆ ไปจนถึงสีเทาดำ เป็นแล้วทำให้ใบหน้าแลดูหมองคล้ำ ซึ่งสามารถมองเห็นขอบเขตของฝ้าชัดเจน วิธีการรักษาค่อนข้างง่าย ใช้เวลาไม่นานมาก เพราะสามารถกระตุ้นให้เกิดการผลัดเซลล์ผิวและหลุดออกไปได้
- ฝ้าฮอร์โมน แบบฝ้าลึก (Dermal type) โดยมักจะเกิดขึ้นบริเวณผิวชั้นหนังแท้ (Dermis) อาจจะมีสีน้ำตาลอ่อน สีเทา สีเทาอมฟ้า หรือสีน้ำตาลอมม่วงออกไปทางคล้ำ มีขอบเขตของฝ้าไม่ชัดเจน แทบจะกลืนไปกับผิวหน้า เนื่องจากอยู่ลึกลงไปในชั้นผิวหนัง จึงเป็นฝ้าที่รักษาให้หายได้ค่อนข้างยากและต้องใช้เวลานานกว่า
- ฝ้าฮอร์โมน แบบฝ้าผสม (Mixed type) เป็นการผสมของฝ้าตื้นและฝ้าลึกในบริเวณเดียวกัน ลักษณะจะเป็นสีเข้มบริเวณกลางแผ่นของฝ้า แต่ขอบฝ้าจะจางกว่า ต้องรักษาหลายวิธีหลายแบบรวมกัน มักเกิดกับผู้ที่มีอายุเพิ่มมากขึ้น เกิดทั้งในระดับผิวหนังชั้นนอกและผิวหนังแท้
ไม่อยากให้ ฝ้าฮอร์โมน ถามหา ต้องดูแลตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลจากฝ้าชนิดนี้
เนื่องจากเป็นฝ้าที่เกิดจากการสวิงไปมาของระดับฮอร์โมนในร่างกายในช่วงเวลาต่าง ๆ ดังนั้นถ้าหากมีการปรับสมดุลของฮอร์โมนอย่างเหมาะสม ก็มีโอกาสจางลงและหายได้ไม่ยากนัก และถ้าหากเราไม่อยากให้เกิดฝ้าต่าง ๆ มารบกวนใบหน้า ควรจะต้องดูแลอย่างไรบ้าง ตามไปดูกัน
- หลีกเลี่ยงยาที่เป็นต้นเหตุให้เกิดฝ้า หรือยาเพิ่มฮอร์โมนอื่น ๆ เช่น ยาคุมกำเนิด อาจจะต้องเปลี่ยนการคุมกำเนิดโดยต้องปรึกษาแพทย์ก่อน
- หลีกเลี่ยงความเครียดเพื่อลดโอกาสเกิดฮอร์โมนความเครียด ด้วยการทำจิตใจให้สบาย ไม่ปล่อยให้จิตใจเกิดความเครียด ความกังวลสะสมอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานมากจนเกินไป แนะนำให้หากิจกรรมอื่น ๆ ทำ เพื่อช่วยให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย เช่น งานอดิเรก เล่นกีฬา ท่องเที่ยว หรือใช้เวลากับคนในครอบครัว เป็นต้น
- ปกป้องผิวภายนอกด้วยการทาครีมกันแดดเป็นประจำ เพื่อไม่ให้ฝ้าเกิดการหนาตัวขึ้น และหลีกเลี่ยงการให้บหน้าสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง ควรหาอุปกรณ์ป้องกันเมื่อต้องออกไปเจอกับแสงแดด
- บำรุงผิวหน้าอย่างสม่ำเสมอ อาจดูแลด้วยการใช้ครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของกรดผลไม้หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ช่วยลดเลือนฝ้า หรือรับประทานผักผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใสจากภายในสู่ภายนอก
ฝ้าฮอร์โมน นับเป็นอีกประเภทของฝ้าที่หากเกิดขึ้นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายไปได้ด้วยตัวเอง ควรรีบเข้าพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อให้แพทย์เป็นผู้ตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดฝ้า และนำไปสู่แนวทางการรักษาอย่างเหมาะสมกับปัญหาฝ้าของแต่ละคนต่อไป เพื่อผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจและไม่สร้างปัญหาผิวอื่น ๆ เพิ่มตามมาจนกลายเป็นปัญฆาผิวลุกลามจนยากต่อการแก้ไขหรือรักษาให้หายขาดได้นั่นเอง
สรุป
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาฝ้าทั่วไปจากการโดนแสงแดดสะสม หรือปัญหา ฝ้าฮอร์โมน จากการตั้งครรภ์ การกินยาคุมกำเนิด ความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย หรือความเครียดก็ตาม นับว่าเป็นหนึ่งในปัญหาผิวที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะกับผู้หญิงหลาย ๆ คน ดังนั้นจึงควรเริ่มต้นหาข้อมูลว่าฝ้าแต่ละชนิดเกิดจากสาเหตุใดบ้าง เพื่อจะรับมือและเตรียมการป้องกันเอาไว้ก่อน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดฝ้าบนใบหน้าจนยากแก่การรักษานั่นเอง
บทความนี้เขียนโดย แพทย์หญิงธนิดา วรวิวัชร์ (หมอใบเฟิน) แพทย์ศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ก่อตั้ง Chuladoctor Clinic เแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย, การปรับรูปหน้าและเทคนิค SMAPS ขั้นสูง