โทร: 096-187-5888เพื่อรับสิทธิ รักษาฝ้าฟรี 1 ครั้ง

8 วิธีมีประสิทธิภาพในการรักษาแผลเป็นหลุมสิว

Share

สารบัญ

8 วิธีมีประสิทธิภาพในการรักษาแผลเป็นหลุมสิว

แผลเป็นหลุมสิว หรือ Atrophic scar เป็นหนึ่งในปัญหาผิวที่ชวนหนักใจมากที่สุด โดยแผลเป็นประเภทนี้เกิดจากสิว ตุ่มอีสุกอีใส หรือบาดแผลบนผิวหนังที่เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง ทำให้เนื้อเยื่อใต้ชั้นผิวถูกทำลายและไม่สามารถสร้างเนื้อเยื่อใหม่มาทดแทนได้เพียงพอ ผิวจึงยุบตัวลงไปกลายเป็นหลุมเป็นบ่อ สาเหตุที่หลุมสิวเป็นปัญหาน่าหนักใจก็เพราะว่าแผลเป็นประเภทนี้จะไม่สามารถหายหรือลบเลือนไปได้เองตามกาลเวลา ต่างกับรอยดำ/รอยแดงจากสิวตามปกติ แต่จำเป็นต้องใช้วิธีทางการแพทย์ในการรักษา ในบทความนี้จึงจะมาพูดถึงว่า มีวิธีใดบ้างที่สามารถรักษาแผลเป็นหลุมสิวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแต่ละวิธีมีจุดเด่นที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง

8 วิธีรักษาแผลเป็นหลุมสิว

วิธีที่นิยมใช้ในการรักษาหลุมสิวและให้ผลลัพธ์ที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ มีดังนี้…

1. การรักษาด้วยเลเซอร์

การทำเลเซอร์เป็นหนึ่งในวิธีรักษาหลุมสิวยอดฮิต ซึ่งหลักการคร่าว ๆ ก็คือการใช้ลำแสงเลเซอร์เข้าไปกระตุ้นให้ผิวบริเวณหลุมสิวมีการสร้างเนื้อเยื่อคอลลาเจนและอีลาสตินเพิ่มขึ้น รวมถึงกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวใหม่ ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้คือผิวที่เรียบเนียนและหลุมสิวที่ตื้นขึ้น

การทำเลเซอร์มีด้วยกันหลายชนิด แบ่งตามรูปแบบของพลังงานที่ใช้ ซึ่งชนิดที่นิยมใช้ในการรักษาหลุมสิว ได้แก่

  • Fractional Laser: เป็นการปล่อยลำแสงพลังงานมุ่งเป้าไปที่รอยแผลเป็นโดยตรง เพื่อกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ทำให้หลุมสิวตื้นๆ เรียบเนียนขึ้น และยังทำลายเม็ดสีผิวในบริเวณดังกล่าว ทำให้รอยดำ/รอยแดงจากสิวลดเลือนลงด้วย
  • CO2 Laser: เป็นการยิงแสงเลเซอร์ที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวกลางในการผลิต ซึ่งเทคนิคนี้ค่อนข้างให้ผลลัพธ์ที่ดีในการรักษาหลุมสิวลึก

แม้การทำเลเซอร์จะเป็นวิธีรักษาหลุมสิวที่ได้รับความนิยมสูง แต่วิธีนี้ก็จำเป็นต้องใช้ความร้อนกับผิว ทำให้ผิวมีโอกาสระคายเคือง แสบ ลอก และไวต่อแสง อีกทั้งต้องทำต่อเนื่องกันอย่างน้อย 4-6 ครั้ง ถึงจะเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน

2. การทำ Microneedling

การทำ Microneedling คือการใช้เข็มขนาดเล็กมาก ๆ จิ้มลงบนผิวหน้าเพื่อสร้างบาดแผลเล็ก ๆ บนผิว วิธีนี้จะกระตุ้นให้ผิวมีการสร้างคอลลาเจนและอีลาสตินมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้แผลเป็นหลุมสิวดูตื้นขึ้น อีกทั้งในระยะยาวยังช่วยให้รูขุมขนกระชับ และผิวเรียบเนียนอิ่มฟูขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม การรักษาแผลเป็นหลุมสิวด้วย Microneedling จะเหมาะกับหลุมสิวตื้นๆ เท่านั้น และต้องทำต่อเนื่องหลายครั้งจึงจะได้ผลดี นอกจากนี้ หลังทำ Microneedling ก็อาจเกิดอาการผิวหน้าบวม แดง ช้ำ ซึ่งจำเป็นต้องพักหน้าหลังทำเช่นกัน

3. การลอกผิวด้วยสารเคมี

การลอกผิวด้วยสารเคมี หรือ Chemical peeling เป็นการใช้สารจำพวกกรด AHA และ BHA เข้าไปกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวชั้นนอก ซึ่งจะช่วยให้รอยแผลเป็นจากสิว รวมถึงหลุมสิวที่ค่อนข้างลึกดูตื้นขึ้นมาได้ โดยสารที่ใช้เพื่อการลอกผิวนั้นอาจเป็นกรดต่างชนิดซึ่งมีระดับความเข้มข้นต่างกันไป ตามแต่ความลึกของหลุมสิวและสภาพผิวของแต่ละคน ทั้งนี้ การใช้กรดที่มีความเข้มข้นสูงเพื่อผลัดเซลล์ผิวในชั้นลึก จำเป็นจะต้องประเมินและรักษาโดยแพทย์เท่านั้น เนื่องจากมีโอกาสที่ผู้ป่วยจะมีอาการผิวแสบ แดง ลอก และระคายเคืองง่ายจากการลอกผิวด้วยกรดเป็นประจำ อีกทั้งลำพังการลอกผิวเพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถทำให้หลุมสิวหายไปได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องรักษาควบคู่ไปกับวิธีอื่นด้วย

4. การทำ PRP Therapy

Platelet-Rich Plasma (PRP) Therapy เป็นเทคนิคที่ใช้พลาสมาจากเลือดของผู้ป่วยเอง มาสกัดเอา growth factors แล้วฉีดเข้าสู่ผิวหนังบริเวณที่เป็นหลุมสิว โดยสารที่ฉีดเข้าไปจะช่วยกระตุ้นให้ผิวเกิดการสร้างเนื้อเยื่อคอลลาเจนมาเติมเต็มส่วนที่ยุบตัวลงไป และทำให้แผลเป็นหลุมสิวดูตื้นขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วย PRP เพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถแก้ไขหลุมสิวประเภทที่เกิดพังผืดได้ จึงจำเป็นต้องรักษาร่วมกันกับวิธีอื่น เช่น การทำเลเซอร์ หรือการทำ Subcision จึงจะได้ผลดีกับหลุมสิวทุกประเภท

5. การทำ Subcision

การทำ Subcision หรือการผ่าตัดใต้แผลเป็น คือเทคนิคการใช้เข็มขนาดเล็กเข้าไปตัดและเลาะพังผืดที่อยู่ใต้แผลเป็นหลุมสิว ทำให้ผิวบริเวณดังกล่าวยกตัวขึ้น และกระตุ้นการซ่อมแซมผิวโดยการสร้างคอลลาเจนมาเติมเต็มช่องว่างใต้หลุมสิว ซึ่งช่วยให้หลุมสิวประเภทที่เกิดพังผืดดึงรั้งใต้ชั้นผิวดูตื้นขึ้นได้ จึงเหมาะกับการใช้รักษาหลุมสิวแบบกล่อง (Box scar) รวมถึงหลุมสิวตื้นๆ ที่เป็นมานานแล้วด้วย

อย่างไรก็ตาม การทำ Subcision อาจไม่เหมาะกับการรักษาหลุมสิวที่ลึกมาก คนที่มีหลุมสิวหลายประเภทบนใบหน้าจึงอาจต้องรักษาร่วมไปกับเทคนิคอื่นๆ ด้วย อีกทั้งผลข้างเคียงจากการทำ Subcision ก็อาจทำให้ผิวหน้ามีอาการบวม ช้ำ จนถึงขั้นอักเสบได้ จึงจำเป็นต้องมีการดูแลตัวเองหลังรักษาที่เหมาะสม

6. การใช้ยาทาเฉพาะที่

การใช้ยาชนิดทาเฉพาะที่กับบริเวณหลุมสิว เป็นวิธีการรักษาแผลเป็นหลุมสิวที่ทำได้ง่าย มีค่าใช้จ่ายไม่มาก และสามารถทำให้หลุมสิวดูตื้นขึ้นได้เล็กน้อย โดยชนิดของยาที่นิยมใช้ในการรักษา ได้แก่

  • เจลหรือแผ่นซิลิโคน: ตัวยาชนิดนี้จะช่วยกระตุ้นให้เซลล์ผิวชั้นล่างเกิดการแบ่งตัวและซ่อมแซมตัวเอง ซึ่งทำให้รอยแผลเป็นหลุมสิวนุ่มและเรียบขึ้นได้เมื่อใช้อย่างต่อเนื่อง
  • เรตินอยด์ (Retinoids): เป็นสารกลุ่มอนุพันธ์ของวิตามิน เอ ที่มีอยู่หลายชนิด โดยมีฤทธิ์ช่วยในการผลัดเซลล์ผิว กระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่และการสร้างเนื้อเยื่อคอลลาเจน ทำให้ผิวบริเวณที่มีหลุมสิวดูเรียบเนียนขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม การรักษาหลุมสิวด้วยยาทาเฉพาะที่จะได้ผลดีกับหลุมสิวตื้นๆ เท่านั้น และค่อนข้างใช้เวลานานกว่าวิธีอื่นๆ อีกทั้งสารกลุ่มเรตินอยด์ก็ยังเป็นสารที่ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ด้วย

7. การทำ RF Microneedling

เทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่ผสมผสานระหว่างการทำ Microneedlig กับการใช้พลังงานคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequncy) มากระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ผิวหนังบริเวณที่มีหลุมสิว เทคนิคนี้ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการทำ Fractional RF หรือ Microneedling เพียงอย่างเดียว โดยสามารถช่วยให้หลุมสิวดูตื้นขึ้นได้ทันทีตั้งแต่การทำครั้งแรก แถมมีผลข้างเคียงน้อยกว่า แต่ก็มาพร้อมราคาที่ค่อนข้างสูงเช่นเดียวกัน

8. การฉีดรักษาแผลเป็นหลุมสิว

การฉีดรักษาหลุมสิวเป็นการฉีดสารต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพในการเติมเต็มหลุมสิวเข้าไปยังผิวบริเวณที่เกิดรอยแผลเป็น ตัวอย่างเช่น การฉีดฟิลเลอร์ หรือกรดไฮยาลูโรนิค เพื่อเติมให้หลุมสิวตื้นขึ้น การฉีดสารที่กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใต้ชั้นผิว รวมไปถึงการฉีดสเต็มเซลล์และโกรทแฟคเตอร์เข้มข้นเข้าไปเพื่อกระตุ้นการซ่อมแซมตัวเองของผิว ทำให้ผิวมีการสร้างคอลลาเจนเพิ่มขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้จึงช่วยให้ผิวมีความเรียบเนียน หลุมสิวตื้นขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่ทำ อีกทั้งช่วยให้ผิวดูอิ่มฟูและสุขภาพดีขึ้น พร้อมช่วยลดสารพัดปัญหาผิว อย่างการเกิดสิวและรอยแผลเป็นจากสิวได้อีกด้วย

สรุป

แม้ตัวเลือกการรักษาแผลเป็นหลุมสิวที่มีประสิทธิภาพจะมีด้วยกันหลากหลายวิธี แต่เนื่องจากแต่ละคนย่อมมีสภาพผิวและลักษณะหลุมสิวบนใบหน้าที่แตกต่างกันไป การจะรักษาให้ได้ผลดีที่สุดจึงต้องมีการประเมินโดยแพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญเพื่อเลือกวิธีการที่เหมาะสม รวมถึงอาจต้องใช้มากกว่าหนึ่งเทคนิคร่วมกันจึงจะสามารถรักษาหลุมสิวทุกชนิดได้อย่างครอบคลุมและเห็นผลอย่างชัดเจน

บทความนี้เขียนโดย แพทย์หญิงธนิดา วรวิวัชร์ (หมอใบเฟิน) แพทย์ศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ก่อตั้ง Chuladoctor Clinic แพทย์ผู้มีความถนัดและประสบการณ์ด้านการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม การเปลี่ยนรูปร่างถึงระดับเซลล์และการแก้ปัญหาผิวพรรณจากภายใน

สนใจปรึกษาฟรี
model

รับคำปรึกษาและรับ

สิทธิพิเศษ