ฝ้าจากฮอร์โมนคืออะไร พร้อมเผย 6 วิธีรักษาฝ้าฮอร์โมนให้ได้ผล
ฝ้า (Melasma) เป็นหนึ่งในปัญหาผิวที่พบได้บ่อยในคนไทย โดยเฉพาะคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากรังสี UV จากแสงแดดที่ร้อนแรงเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝ้าได้ นอกจากนี้ ก็ยังรวมไปถึงปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ เช่น พันธุกรรม มลภาวะ ความเครียด ไปจนถึงฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปในร่างกาย
ฝ้ามักมีลักษณะเป็นปื้นสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลอมเทา โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบริเวณโหนกแก้ม หน้าผาก จมูก และเหนือริมฝีปาก ซึ่งถือเป็นปัญหาผิวที่จัดการได้ยาก และจำเป็นต้องมีการรักษาดูแลอย่างต่อเนื่องจึงจะทำให้ฝ้าจางลงได้
ในบทความนี้เราจะเน้นพูดถึงฝ้าชนิดที่พบบ่อยในผู้หญิง ซึ่งก็คือฝ้าที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน มาดูกันว่าฝ้าฮอร์โมนเกิดจากอะไร แล้วจะมีวิธีรักษาฝ้าฮอร์โมนได้อย่างไรบ้าง
ฝ้าฮอร์โมน คืออะไร
ฝ้าฮอร์โมน คือฝ้าที่เกิดขึ้นจากความแปรปรวนของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) และโปรเจสเตอโรน (progesterone) ในร่างกาย ซึ่งฝ้าที่เกิดขึ้นอาจคงอยู่เพียงชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ ด้วยเหตุนี้ ฝ้าจึงมักเกิดในผู้หญิงได้บ่อยกว่าผู้ชายโดยสภาวะที่สามารถกระตุ้นให้เกิดฝ้าฮอร์โมนขึ้นได้ ได้แก่
- การตั้งครรภ์ โดยเรามักเรียกฝ้าที่เกิดขณะตั้งครรภ์ว่า Mask of pregnancy หรือหน้ากากแห่งการตั้งครรภ์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ฝ้าชนิดนี้มักจะจางลงหรือหายไปเองภายในไม่กี่เดือนหลังคลอด เนื่องจากระดับฮอร์โมนกลับมาคงที่ตามปกติ อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาและความคงทนของฝ้าก็อาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน และมีโอกาสที่ฝ้าจะไม่หายและกลายเป็นฝ้าถาวรได้เช่นกัน
- การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดกิน ซึ่งยาบางชนิดอาจส่งผลให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง และกระตุ้นให้เกิดฝ้าขึ้นมาได้
- การรักษาภาวะวัยทองด้วยการใช้ฮอร์โมน ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับฮอร์โมนแปรปรวนและเกิดฝ้าฮอร์โมนได้เช่นเดียวกัน
นอกจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนโดยตรงแล้ว ก็ยังอาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่กระตุ้นให้เกิดฝ้าฮอร์โมนขึ้นมาได้ ตัวอย่างเช่นการสัมผัสรังสี UV ในแสงแดด ความเครียด และพันธุกรรม เป็นต้น
วิธีรักษาฝ้าฮอร์โมน ทำได้อย่างไรบ้าง
ในกรณีที่ฝ้าฮอร์โมนไม่จางหรือลดเลือนเอง เรามีแนวทางจัดการและวิธีรักษาฝ้าฮอร์โมนได้ ดังนี้
1. ปกป้องผิวจากแสงแดด
อย่างที่ทราบกันว่าหนึ่งในต้นเหตุสำคัญที่สุดของการเกิดฝ้าก็คือการที่ผิวสัมผัสกับรังสี UV ในแสงแดด โดยเฉพาะในสภาวะที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนไม่คงที่อยู่แล้ว ดังนั้น ขั้นตอนเริ่มแรกของการรับมือกับฝ้าฮอร์โมน จึงเป็นการปกป้องผิวจากแสงแดดเพื่อป้องกันการเกิดฝ้าเพิ่มเติม และเพื่อยับยั้งไม่ให้ฝ้าจากฮอร์โมนกลายเป็นฝ้าถาวร
วิธีการป้องกันความเสียหายจากแสงแดด ทำได้โดยการทาผลิตภัณฑ์กันแดดเป็นประจำทุกวัน โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวควรสามารถป้องกันได้ทั้งรังสี UVA และ UVB รวมถึงมีค่าการป้องกันที่เพียงพอ (เช่น SPF 50+ สำหรับแดดประเทศไทย) นอกจากนี้ เรายังสามารถใช้อุปกรณ์กันแดด อย่างหมวก ร่ม และเสื้อคลุมกัน UV เพื่อปกป้องผิวจากแสงแดดในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
2. การลดเลือนฝ้าเฉพาะจุด
หากฝ้าฮอร์โมนที่เกิดขึ้นมีความเข้มมากหรือไม่จางลงตามธรรมชาติ เราก็สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ทาผิวเฉพาะจุดเพื่อเร่งการลดเลือนฝ้าได้ ตัวอย่างเช่น
- เซรั่มที่มีส่วนผสมของวิตามิน ซี ซึ่งจัดเป็นสารกลุ่ม brightening ที่ช่วยให้ผิวดูกระจ่างใสขึ้นและสามารถลดเลือนจุดด่างดำได้
- สารจำพวกกรด เช่น Azelaic acid และ Kojic acid ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิวผิดปกติ และสามารถทำให้รอยด่างดำจากฝ้าดูจางลงได้
- สารกลุ่ม Retinoids หรืออนุพันธ์วิตามิน เอ ซึ่งช่วยกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวและลดเม็ดสี จึงมีส่วนช่วยให้ฝ้าจางลง อย่างไรก็ตาม สารดังกล่าวถือเป็นสารต้องห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ จึงไม่สามารถใช้รักษาฝ้าฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์ได้
3. การผลัดเซลล์ผิว
สารจำพวกกรด Alpha-hydroxy acids (AHAs) และ Beta-hydroxy acids (BHAs) จะช่วยกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิว ขจัดเซลล์ผิวหมองคล้ำจากเม็ดสีที่มากผิดปกติ และเผยผิวใหม่ที่กระจ่างใสยิ่งขึ้น เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมเหล่านี้อย่างต่อเนื่องจึงสามารถช่วยให้ฝ้าตื้นๆ ดูจางลงได้ อย่างไรก็ตาม การผลัดเซลล์ผิวบ่อยเกินไปหรือใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์แรงเกินไป ก็อาจส่งผลให้ผิวเกิดความระคายเคือง แสบลอกได้ง่าย รวมถึงสารในกลุ่ม BHAs ก็ยังถือเป็นสารควรระวังที่ต้องจำกัดการใช้ในสตรีตั้งครรภ์ด้วย
4. การรักษาฝ้าด้วยเลเซอร์
เทคนิคการทำเลเซอร์บางชนิด เช่น Fractional และ Non-ablative laser เป็นอีกวิธีรักษาฝ้าฮอร์โมนที่ค่อนข้างตรงจุดและได้ผล โดยการทำเลเซอร์จะอาศัยการยิงลำแสงเข้าไปในผิวหนังบริเวณที่เป็นฝ้า เพื่อให้พลังงานที่เกิดขึ้นไปทำลายเม็ดสีผิวที่ผิดปกติ รวมถึงกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและการผลัดเซลล์ของผิว ผลลัพธ์ที่ได้จึงทำให้ฝ้าดูจางลงและผิวกระจ่างใสเรียบเนียนยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความร้อนจากพลังงานแสงเลเซอร์ก็อาจทำให้ผิวเกิดอาการแสบแดง ระคายเคือง และไวต่อแสงได้ง่าย จึงจำเป็นต้องพักหน้าหลังทำ รวมถึงอาจต้องทำซ้ำหลายครั้งถึงจะได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน
5. การรักษาฝ้าด้วยฮอร์โมน
ในบางกรณี การปรับยาหรือหยุดใช้ยาฮอร์โมนบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ก็สามารถแก้ไขให้ฝ้าฮอร์โมนที่เป็นอยู่ลดเลือนไปเองได้ตามธรรมชาติ คนที่เป็นฝ้าฮอร์โมนจากสาเหตุที่แน่ชัดเหล่านี้ จึงสามารถปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งจะช่วยยับยั้งการเกิดฝ้าได้
6. การฉีดลดฝ้า
อีกหนึ่งวิธีรักษาฝ้าฮอร์โมนที่มีประสิทธิภาพ ก็คือการฉีดสารบางชนิดเข้าสู่ผิวหนังเพื่อสลายฝ้าและยับยั้งการเกิดฝ้าที่ต้นเหตุ ยกตัวอย่างเช่น การฉีดสเต็มเซลล์และโกรทแฟคเตอร์เข้มข้น ซึ่งจะช่วยชะลอการสร้างเม็ดสีผิว ทำให้ฝ้าบนใบหน้าดูจางลง รวมถึงยังช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ ทำให้ผิวดูกระจ่างใส เรียบเนียน และมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยลดเลือนฝ้าเก่าพร้อมป้องกันการเกิดฝ้าใหม่แล้ว ยังช่วยยับยั้งการเกิดปัญหาผิวต่างๆ ได้อย่างตรงจุดด้วย ทั้งนี้ ใครที่เป็นฝ้าฮอร์โมนในระหว่างที่ตั้งครรภ์ ก็อาจลองปรึกษาคุณหมอในคลินิกที่น่าเชื่อถือดูว่าเทคนิคการฉีดฝ้าแบบไหนที่ปลอดภัย และสามารถรักษาฝ้าฮอร์โมนได้ในช่วงเวลาดังกล่าว
สรุป
แม้ฝ้าฮอร์โมนโดยส่วนใหญ่จะสามารถลดเลือนได้เองเมื่อฮอร์โมนในร่างกายกลับมาสู่ระดับสมดุล แต่ในบางกรณีที่ฝ้าไม่จางหายไปหรือใช้เวลานานผิดปกติ การหาวิธีรักษาฝ้าฮอร์โมนที่ได้ผลก็อาจเป็นเรื่องจำเป็นเช่นกัน ทั้งนี้ การรักษาฝ้าชนิดใดๆ ล้วนต้องอาศัยความต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ควบคู่กับการป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดฝ้าเพิ่มเติมเท่าที่เป็นไปได้อีกด้วย
บทความนี้เขียนโดย แพทย์หญิงธนิดา วรวิวัชร์ (หมอใบเฟิน) แพทย์ศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ก่อตั้ง Chuladoctor Clinic แพทย์ผู้มีความถนัดและประสบการณ์ด้านการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม การเปลี่ยนรูปร่างถึงระดับเซลล์และการแก้ปัญหาผิวพรรณจากภายใน